เขียนโดย Administrator
|
วันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2010 เวลา 12:15 น. |
โครงการการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาระบบงานบริการ วิชาการ และสร้างวัฒนธรรมองค์กร ในกิจกรรม “คุยกันวันศุกร์”
เก็บเรื่องมาเล่าจาก : สพ.ญ.วิภาดา วีระกิจพานิช : ประสบการณ์ต่างแดน ดิฉันได้นั่งเครื่องบินไปประเทศแคนาดา โดยนั่งเครื่องบินจากประเทศไทยไปลงที่ไทเป และ จากไทเปไปลงที่เวนคูเปอร์ ระหว่างที่นั่งรอเครื่องบินออก ก็มีชาวฝรั่งคนหนึ่งเดินมา ถามว่า คุณจะไป Montrel หรือเปล่า ชาวฝรั่งคนนั้นก็บอกว่า คุณต้องไปรออีกประตูหนึ่ง เพราะว่าตอนนี้เปลี่ยนประตูทางขึ้นเครื่องใหม่แล้ว จากเหตุการณ์ในการบอกทางครั้งนี้เอง ทำให้ดิฉันได้ทราบว่า ถึงแม้เราจะมีสัญชาติที่ต่างกัน และไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วย แต่ก็สามารถแสดงน้ำใจต่อกันได้ จึงทำให้รู้สึกประทับใจและชื่นชมชาวฝรั่งคนนั้น : ความรู้สึกของลูกที่มีต่อแม่ มาจากแนวความคิดของบุคลากรในหน่วยงาน ที่มีแง่มุมของผู้ที่เป็นลูก คิดว่าถึงเราจะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดผู้เป็นแม่ เพราะต้องทำงานต่างจังหวัด แต่ความรู้สึกที่ลูกมีต่อแม่ก็ไม่ได้จางหายไปไหน ยังรู้สึกเป็นห่วงและคิดถึงแม่อยู่เสมอ ส่วนแนวความคิดของผู้เป็นแม่คิดว่าสังคมสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อน คือ ลูกจะไม่กล้าแสดงความรักต่อแม่ จะรู้สึกอายและเขิน แต่สมัยนี้เปลี่ยนไป ลูกจะกล้าแสดงความรักต่อแม่มากขึ้น เช่น กล้าหอมแก้มแม่ กล้าบอกรักแม่ กล้าแสดงความรู้สึกที่มีต่อแม่มากขึ้น
โจทย์ช่วยกันคิด : เมื่อมีสุนัขโดนรถชนมาที่โรงพยาบาลสัตว์ “ ใครต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร” : เจ้าของสุนัขที่พาสุนัขโดนรถชนมา จะเข้ามาแจ้ง 2 ทาง ก็คือ เวชระเบียน และ ห้องฉุกเฉิน เจ้าของสุนัขที่มาแจ้งทางเวชระเบียน ให้เจ้าของสัตว์นำสุนัขขึ้นมา แล้วให้เจ้าหน้าที่ สังเกตอาการว่าเป็นหนักหรือเปล่า เช่น สุนัขมีสติหรือไม่มีสติ สามารถประคองตัวเองได้ไหม หอบ หายใจแรง ชัก มีบาดแผลฉกรรจ์ ขนาดของแผล เลือดไหล สีเยื่อเมือกซีด ไส้ไหล นอนไม่ลุก ระยะเวลาในการโดนรถยนต์ชน หรือเจ้าของสัตว์แสดงความกังวลหรือเปล่า ถ้ามีอาการตามที่กล่าวมาเหล่านี้ก็ให้นำสุนัขเข้าห้องรักษาหรือฉุกเฉินได้ทันที โดยให้ผู้รับแจ้งประวัติสัตว์ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจและพิจารณาเบื้องต้น กรณีสุนัขตัวใหญ่เจ้าของยกไม่ไหวก็ให้เจ้าหน้าที่เรียกผู้ช่วยเอารถเข็นไปรับสุนัขและช่วยเจ้าของสัตว์ยกสุนัขขึ้นบนรถเข็นอย่างนุ่มนวล ชั่งน้ำหนัก เข้าห้องตรวจ แล้วแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบว่า มี Case ฉุกเฉิน อยู่ในห้องรักษานั้นๆ ขั้นตอนต่อไปสัตวแพทย์ตรวจอาการสุนัข ถ้าอาการไม่หนัก ก็ให้เข้ากระบวนการรักษาตามปกติ แต่ถ้าเจ้าของสัตว์พาสุนัขที่โดนรถชนเข้ามาทางห้องฉุกเฉิน สัตว์แพทย์จะดูอาการของสุนัขว่าเป็นหนักหรือเปล่า ตามอาการที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าเป็นหนัก สัตวแพทย์ก็จะรักษาเลย และให้เจ้าของแจ้งทำประวัติที่เวชระเบียน แต่ถ้าไม่เป็นหนักก็เข้าสู่กระบวนการรักษาปกติเช่นกัน
|