โรคเชื้อราในแมว
เจ้าของคงเคยพบสุนัขหรือแมวที่เป็นโรคผิวหนัง ส่วนมากจะพบในแมวพันธุ์เปอร์เซีย รักษามานานเป็นเดือน ซึ่งโรคผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคผิวหนังที่รักษานานไม่หายซะที ก็คือโรคผิวหนังจากเชื้อรานั่นเอง
“มาทำความรู้จักโรคผิวหนังจากเชื้อรากันดีกว่า”
อาการที่พบ
สุนัขหรือแมวมีอาการคันมาก ขนร่วงเป็นวง ผิวหนังมีสีแดง หรือมีสะเก็ดแห้ง ๆ หรือเป็นขุย บางครั้งอาจพบวิการที่คนเลี้ยงด้วย เช่น มีลักษณะผิวหนังเป็นวงผื่นแดง คัน โดยเฉพาะที่นิ้วมือ แขน ถ้าสุนัขหรือแมวคันมาก ๆ แล้วเกามาก ๆ จะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบเป็นตุ่มใส พุพอง เนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน บางครั้งอาจพบว่าผิวหนังบริเวณที่เป็นมีสีเข้มกว่าบริเวณข้างเคียง
เชื้อสาเหตุ
เชื้อราในกลุ่ม Microsporum spp. และ Trichophyton spp. เชื้อรามักพบอยู่ตามพื้นดิน สิ่งปูรองต่าง ๆ ในกรณีที่บ้านมีแมวเปอร์เซียที่เป็นเชื้อรา ตัวเชื้อมักจะอยู่ที่โคนขน และต่อมขน ทำให้การรักษาต้องใช้เวลานาน
วิธีการวินิจฉัย
หากเจ้าของพบว่าแมวที่เลี้ยงไว้หรือนำเข้ามาใหม่มีอาการคันตามตัว ขนร่วงเป็นหย่อม ๆ ก็ควรให้รีบพามาพบสัตวแพทย์ และสัตวแพทย์ก็จะทำการตรวจ
1. ซักจากประวัติและมองดูวิการ จะพบลักษณะอาการและวิการแบบที่กล่าวมาข้างต้น
2. ขูดผิวหนังบริเวณที่คันและขนร่วงใส่ slide หยดด้วยสารละลาย KOH 10% และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
3. ส่องไฟสีม่วง (Wood’s Lamp) จะพบว่าบริเวณที่ขนร่วงเป็นวงจะเห็นสะท้อนเรืองแสงเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคเชื้อรา
(ถ้าเป็นโรคผิวหนังจากสาเหตุอื่นจะไม่พบการสะท้อนเรืองแสงสีเขียว) แต่อาจเกิดผลบวกเทียมได้ เนื่องจากสะเก็ดผิวหนังอื่น ๆ
4. ทำการเพาะเชื้อ โดยการถอนขน หรือขูดผิวหนังบริเวณที่พบวิการไปตรวจ แต่จะใช้เวลาในการทราบผลประมาณ 1-2 สัปดาห์
การรักษาและการดูแล
เนื่องจากโรคเชื้อราเป็นโรคที่ใช้เวลาในการรักษานานเป็นเดือน ๆ จึงต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ และถึงแม้ว่าจะไม่พบอาการหรือวิการแล้ว แต่เชื้อรายังคงอยู่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นโรคเชื้อราแบบเรื้อรัง บางครั้งอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานเป็นปี
ขั้นตอนการรักษา
1. หากพบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคเชื้อรา ให้แยกเลี้ยงออกจากตัวอื่น เนื่องจากสามารถติดไปยังตัวอื่นได้ ทำให้การรักษาทำได้ยากและเชื้อรา
วนเวียนอยู่ในบ้านไม่หายซะที
2. ควรจะโกนขนบริเวณที่เป็นให้สั้นเพื่อให้สะดวกต่อการทายา และลดปริมาณเชื้อราเนื่องจากเชื้อราอาศัยอยู่ตามรูขุมขนและโคนขน
3. ทายาฆ่าเชื้อราควบคู่กับการกินยา ร่วมกับการใช้แชมพูเชื้อราอาบน้ำ
4. เจ้าของไม่ควรสัมผัสหรือคลุกคลีกับตัวสัตว์ที่ป่วยโดยตรง ควรจะสวมถุงมือเนื่องจากเชื้อราจากตัวสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อมายังเจ้าของได้
5. เมื่อรักษาจนไม่พบอาการแล้ว ควรจะพามาตรวจยืนยันด้วยการเพาะเชื้ออีกครั้งเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง
โรคเชื้อราเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ยาก แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ อย่าลืมนำสัตว์เลี้ยงของท่านมาพบสัตวแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และหายเร็ว อย่ารอจนเป็นมาก ๆ แล้วค่อยพามานะคะ
|